
มกรโตรณะระยะแรกในศิลปะอินเดียใต้ : ศิลปะสมัยอมราวดี วกาฏกะ ปัลลวะ และจาลุกยะแห่งพาทามิ
EARLY MAKARA TORANA IN INDIAN ART
โดย เชษฐ์ ติงสัญชลี / By Chedha Tingsanchali
Damrong Journal, Vol 5, No.2, 2006
บทคัดย่อ:
มกรโตรณะ คือ ลายที่ประกอบด้วยมกร 2 ข้างหันหัวเข้าคายวงโค้งซึ่งมีวงรูปเหรียญประดับตรงกลางมักปรากฏอยู่บริเวณด้านบนของประตูและซุ้มจระนำ แม้ว่าลวดลายดังกล่าวนี้จะพบอยู่ทั้งในศิลปะอินเดียเหนือหรืออินเดียใต้และศิลปะขอม อินเดียใต้คือแหล่งกำเนิดและแหล่งของพัฒนาการในขั้นต้นของลวดลายดังกล่าว อนึ่ง ลวดลายดังกล่าวปรากฏพัฒนาการอยู่ในศิลปะสมัยราชวงศ์อิกษวากุแห่งนาคารชุนโกณฑะ, ศิลปะสมัยราชวงศ์วกาฏกะ, ศิลปะสมัยราชวงศ์ปัลลวะ และศิลปะสมัยราชวงศ์จาลุกยะแห่งพาทามิ
ต้นกำเนิดของมกรโตรณะอาจเกี่ยวข้องกับลวดลายคนแบกพวงมาลัยซึ่งประดับอยู่บนคานทับหลังของรั้วล้อมสถูปในศิลปะอมราวดี ทับหลังชิ้นนี้ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์นาคารชุนโกณฑะ มีลวดลายซึ่งประกอบด้วยมกรหันเข้า 2 ข้าง ลายพวงมาลัยและลายวงกลมรูปเหรียญสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าวนี้
ในระยะต้นของศิลปะสมัยราชวงศ์ปัลลวะและศิลปะสมัยราชวงศ์จาลุกยะแห่งพาทามิ ลวดลายของมกรโตรณะมีแนวโน้มที่เคร่งครัดในกฏเกณฑ์ ที่กำหนดให้มกรโตรณะจะต้องประกอบด้วยมกร 2 ตัวหันเข้าคายวงโค้ง 2 วงโดยที่มีวงกลมรูปเหรียญ 1 วงคั่น และด้านล่างปรากฏพู่ห้อย ตัวอย่างของมกรโตรณะแบบนี้ ได้แก่ที่เทราปตีรถะ เมืองมัลลปุรัมและเทวาลัยมาเลคิตติศิวาลัย เมืองพาทามิ ลวดลายดังกล่าวนี้อาจเป็นต้นเค้าให้ทับหลังของศิลปะขอมระยะแรกสุด
ในระยะปลาย ลวดลายของมกรโตรณะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น ดังจะสังเกตได้จากมกรโตรณะที่เทวาลัยไกรลาสนาถ เมืองกาญจีปุรัม ซึ่งปรากฏมกรโตรณะหลากหลายรูปแบบในโบราณสถานแห่งเดียวกัน มกรโตรณะบางจุดปรากฏมากกว่า 2 ตัวในขณะที่บางจุดปรากฏประติมากรรมรูปสิงห์และรูปบุคคลแทรก อนึ่ง มกรโตรณะทั้งหมดที่เทวาลัยแห่งนี้ไม่ปรากฏวงกลมรูปเหรียญ
เทวาลัยวิรูปักษ์ที่ปัฏฏทากัลป์ซึ่งเป็นเทวาลัยที่ได้รับอิทธิพลมาจากเทวาลัยไกรลาสนาถนั้น เป็นเทวาลัยที่แสดงถึงระบบมกรโตรณะที่ซับซ้อนที่สุดในศิลปะอินเดียใต้ระยะแรก ที่ปัฏฏทากัล ปรากฏมกรโตรณะ 2 กลุ่ม ในบาราณสถานแห่งเดียวกัน กล่าวคือ แบบที่ปรากฏวงกลมรูปเหรียญและแบบที่ไม่ปรากฏวงกลมรูปเหรียญ ในขณะที่แบบแรกปรากฏอยู่เหนือประตูทางเข้าครรภคฤหะ แบบหลังซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของเทวาลัยไกรลาสนาถนั้น มักปรากฏอยู่เหนือซุ้มจระนำรอบเทวาลัย
การศึกษามหรโตรณะในศิลปะอินเดียใต้ ย่อมนำความกระจ่างมาสู่การศึกษาพัฒนาการทางศิลปกรรมของศิลปะเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะขอมสมัยก่อนพระนครใต้
ABSTRACT:
Composed of two Makaras disgorging the curvilinear frame punctuated by a medallion, Makara Torana is a motif especially meant for the niche or the doorway. This motif originated and is frequently found as a decoration for South Indian temples, despite having been found both in North Indian architecture and in the early stage of Cambodian architecture also. The lksvaku art of Nagarjunakonda, Vakataka art, Pallava art and Calukya art of Badami are amongst the earliest schools in which this kind of motif was initiated and developed.
The genesis of Makara Rorana is possibly related to the motif “the garland-bearers” that beautified the lintel of the railing encircled Stupas of Amaravati school. A lintel of Nagarjunakonda Museum, with the motif of the garland terminated by two Makaras and punctuated by several medallions, supports this theory.
In the early period of Pallava and of Calukya of Badami, the motif became more rigid, regurarly with two Makaras disgorging two curvilinear frames punctuated by a medallion under which there is a tassel. The examples of this kind of Makara Torana can be studied from Draupati Ratha at Mamallapuram and Malegitti Shivalaya at Badami. This style of Makara Torana is possibly the prototype for the famous motif of lintels in the earliest stage of the Cambodian art.
During the later period, the motif of Makara Torana become more vivid and various. Considered from Kailashanath at Kancipuram, there are numerous styles of Makara Torana co-existing in the same monument, For some of them, the amount of Makara becomes more than two, others are filled with other sculptures, like Simha and human figures. All of them, however, are without medallionsm being different from those of Draupati Ratha.
Vurupaksha of Pattadakal, which is supposed to be inspired by Kailashanath of Kancipuram, exhibits the most complicated system of Makara Torana in early South Indian art. Makara Torana at Virupaksha comprises two different types co-=existing in the same monument, the original-style (with medallion) and the Kailashanath’s style (without medallion). While the former is meant for the door of the sanctum, the latter is conceived for the outside niches.
The study on the development of Makara Torana in early South Indian art benefits studies on the style of early Southeast Asian art, especially the study on the earliest stage of Cambodian art.