
เอกสารสมัยกรุงธนบุรีเรื่อง “พระราชโองการประกาศเทพารักษ์ให้กำจัดปิศาจ”
Thonburi Document Entitled “The Royal Command to City Guardian Spirits for Expelling Evils”
โดย ธนโชติ เกียรติณภัทร / By Thanachot Kiatnapat
Damrong Journal, Vol 18, No.1, 2019
บทคัดย่อ:
เอกสารสมัยกรุงธนบุรีเรื่อง “พระราชโองการประกาศเทพารักษ์ให้กำจัดปิศาจ” ต้นฉบับเป็นเอกสารประเภทสมุดไทย เนื้อหาภายในประกอบด้วย 1.พระราชโองการประกาศเทพารักษ์ให้กำจัดปิศาจ 2. ต้นร่างเรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช 3. พระราชาธิบายเรื่องลักขณะบุญ สองเรื่องหลังเขียนขึ้นใน พ.ศ. 2319 ลักษณะเป็นเอกสารต้นร่างเนื่องจากใช้ตัวอักษรหวัดแกมบรรจง ส่วนพระราชโองการประกาศเทพารักษ์ให้กำจัดปิศาจ ใช้รูปแบบอักษรบรรจงของอาลักษณ์ในการบันทึก และไม่มีการระบุศักราช สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นใน พ.ศ. 2312 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตขาดแคลนข้าวและหนูระบาดทั่วกรุงธนบุรี เอกสารดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพระราโชบายทางด้านศาสนาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในการประกาศพระราชอำนาจและพระบารมีที่ทรงมีเหนือกว่าเทพารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยทรงอ้างความเป็นเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ คือพระนารายณ์และพระอิศวรรวมทั้งความเป็นพระพุทธเจ้าในการบังคับบัญชาให้เทพารักษ์ประจำกรุงธนบุรีช่วยกันกำจัดปิศาจและช่วยปกป้องราษฎร ส่วนพระราชาธิบายเรื่องลักขณะบุญสะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการศึกษาพระกรรมฐาน จนสามารถเรียบเรียงออกมาเป็นพระราชนิพนธ์ที่ใช้สั่งสอนพระภิกษุสงฆ์ให้ปฏิบัติตาม จากการศึกษาพบว่าขั้นตอนการทำกรรมฐานที่ปรากฏในพระราชาธิบายมีความใกล้เคียงกับคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค จึงสันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอาจศึกษาพระกรรมฐานจากคัมภีร์ดังกล่าว สอดคล้องกับหลักฐานทางพระราชพงศาวดารที่ระบุว่าในสมัยกรุงธนบุรีมีการเชิญพระเถระชั้นผู้ใหญ่ไปสืบหาคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคจากแหล่งต่างๆ มาไว้เป็นแบบฉบับที่กรุงธนบุรี
ABSTRACT:
The original Thai manuscript of a Thonburi document entitled “The Royal Command to City Spirits for Expelling Evils” is composed of 1. the royal command itself written in longhand without mentioning the year it was published. 2. the royal appointment of Chao Phraya Nakhon Sri Thammarat 3. the king’s description of merit, which was written in 1776 in semi-scribal handwriting. The first one, which has been assumed to have been written in 1769 or in the year of the rice deficiency crisis caused by an unprecedented rat plague, manifests King Taksin’s strategies on religious matters. The king declared that he had supreme power over any sacred spirits in the city by claiming that he himself had been reincarnated from Lord Shiva and Lord Vishnu, together with being a living Buddha to command the city spirits of Thonburi and to expel the evil spirits and to protect his people. In addition, King Taksin’s description of merit expresses his profound comprehension of karmathana meditation which he taught monks through this book. The study also reveals the relationship between the king’s description and a Pali text named “Visuddhi Marga”, which can be linked with the known history of an event where King Taksin sent numerous venerable monks to collect several versions of Visuddhi Marga to be kept in Thonburi.