
การศึกษาความสามารถทางภาษาในการเว้นวรรค จากการเขียนภาษาไทยของนักเรียนไทยและญี่ปุ่น
A STUDY OF SPACING IN THAI WRITTING BY THAI AND JAPANESE STUDENTS
โดย ชลิดา งามวิโรจน์กิจ, สุดาพร ลักษณียนาวิน / By Chlida Ngarmwirojki, Sudaporn Luksaneeyanawin
Damrong Journal, Vol 12, No.2, 2013
บทคัดย่อ:
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยที่ศึกษาภาวะภาษาในระหว่าง (Interlanguage) ของการเว้นวรรคในการเขียนภาษาไทยของนักเรียนไทยและญี่ปุ่นโดยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างอย่างมีเกณฑ์ คือ 1) กลุ่มนักเรียนไทย คือ ตัวแทนของกลุ่มเจ้าของภาษาจำนวน 30 คน เป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 และ 4 และ 2) กลุ่มนักเรียนญี่ปุ่นซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เรียนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาจำนวน 20 คน ซึ่งกำลังศึกษาภาษาไทยอยู่ที่โรงเรียนสอนภาษาไทยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างนักเรียนญี่ปุ่นจำแนกเป็น 2 กลุ่ม จากแบบสอบถามประสบการณ์การสัมผัสภาษาไทยของนักเรียนญี่ปุ่นคือ กลุ่มประสบการณ์สูง จำนวน 11 คน และกลุ่มประสบการณ์ต่ำจำนวน 9 คนข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยมาจากแบบทดสอบการเว้นวรรคที่มีตำแหน่งที่ต้องเว้นวรรคตามเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถาน จำนวน 66 ตำแหน่งผลการวิจัยสรุปว่า เจ้าของภาษามีความสามารถในการเว้นวรรคในการเขียนภาษาไทยตรงตามกรอบที่ราชบัณฑิตกำหนดไว้มากกว่านักเรียนญี่ปุ่น และนักเรียนญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ภาษาสูงจะมีความสามารถในการเว้นวรรคใกล้เคียงกับเจ้าของภาษามากกว่านักเรียนที่มีประสบการณ์ภาษาต่ำ เจ้าของภาษาทำการเว้นวรรคได้ดีที่สุดในระดับคำเฉพาะ ตำแหน่งการเว้นวรรคระหว่าง ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ที่เป็นการเว้นวรรคเฉพาะ (Specific Rules) แสดงให้เห็นว่า เจ้าของภาษาสามารถนำเกณฑ์ไปใช้ได้เป็นอย่างดี ผิดกับกลุ่มนักเรียนญี่ปุ่นทั้งสองกลุ่มที่ทำได้ต่ำที่สุดในระดับนี้ เนื่องจากในภาษาญี่ปุ่นไม่มีการเว้นวรรคในระดับคำเลย จึงเกิดการถ่ายโอนระบบภาษาแม่มายังภาษาที่สองในทางลบ (Negative L1 Transfer) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การเว้นวรรคในระดับคำเป็นปัญหาในการเว้นวรรคมากที่สุดสำหรับกลุ่มนักเรียนญี่ปุ่น ดังนั้นอาจารย์ผู้สอนภาษาไทยควรจะเน้นการเว้นวรรคในระดับคำให้มาก เพื่อที่นักเรียนจะสามารถพัฒนาตนเองในการเขียนไปสู่ภาษาเป้าหมายได้ ส่วนการเว้นวรรคที่เจ้าของภาษาทำได้ต่ำที่สุด คือ ในระดับวลี ซึ่งเป็นหนึ่งใน
หลักเกณฑ์ทางเลือก (Optional Rules) ทำให้เกิดการผันแปรสูง การเว้นวรรคในระดับนี้จึงเป็นปัญหาของกลุ่มเจ้าของภาษา กลุ่มนักเรียนญี่ปุ่นทั้งสองกลุ่มทำการเว้นวรรคได้ดีที่สุดในระดับประโยค เนื่องจากการถ่ายโอนระบบภาษาแม่มายังภาษาที่สองในทางบวก (Positive L1 Transfer) ส่วนการเว้นวรรคในระดับอื่น ๆยังคงเป็นปัญหาสำหรับนักเรียนญี่ปุ่นเช่นกัน เนื่องจากในภาษาญี่ปุ่นไม่มีการเว้นวรรค จึงเกิดการถ่ายโอนระบบภาษาแม่มายังภาษาที่สองในทางลบ (Negative L1 Transfer) อย่างไรก็ตามความสามารถในการเว้นวรรคนี้สามารถพัฒนาสู่ภาษาเป้าหมายได้ ดังนั้นอาจารย์ผู้สอนควรจะสอนและฝึกฝนการเขียนภาษาไทยเพื่อที่นักเรียนสามารถเว้นวรรคได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในทุกระดับ
ABSTRACT:
This research paper explores the inter-language study of spacing in Thai writing by Thai and Japanese students. Two sample groups were selected, based on the main criteria of Thai versus Japanese ethnicity and Thai as a native language. Thirty native speaking Thai students were selected from third-year and fourth-year classes in the Faculty of Arts, Chulalongkorn University and twenty non-native speaking students who had studied Thai in a Thai language school in Bangkok were selected and were further classified into 2 groups of high and low exposure to the Thai language. Eleven Japanese students were classified as high exposure while the remaining nine students were classified as low exposure. The research implementation consisted of a test using 66 specific positions for spacing determined by the Royal Institute (2008). The findings indicated that Thai students had higher proficiency in terms of spacing than the Japanese students. Within the two Japanese groups, the students from the high exposure group had a greater level of proficiency in terms of spacing which was closer to that of Thai native speakers than did Japanese students in the low group. The Thai students performed better in terms of spacing at the specific word level, which is subsumed under the specific rules of space. This implies that native Thai students more effectively used a number of spacing rules, different from Japanese students in both the high and low groups that scored lowest. It can be assumed that there is no spacing at word level in Japanese. Negative L1 transfer therefore comes into play and reveals that spacing at the word level seems problematic for Japanese students. As a result, it is advisable that Thai language instructors focus more on teaching word-level spacing for Japanese students in order to develop their Thai writing skills. Interestingly enough, native Thai students had the lowest level of proficiency on spacing at the phrase level, regarded as one of the optional rules leading to high variations of usage. In addition, Japanese students performed best in sentence-level spacing due to the positive L1 transfer. Spacing in other levels, however, is still problematic for Japanese students since there are no spacing rules in the Japanese language. In other words, negative L1 transfer still exists in spacing. Nevertheless, proficiency in using space in Thai writing can be developed. It is therefore a must for Thai language instructors to teach and provide Thai writing practice to consolidate students spacing skills at any level.